เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ๆ ขนาดเล็ก ติดถนนสายบ้านสะพานวา-บ้านป่าแก่ อยู่ห่างจากสามแยกบ้านสะพานวา ไปทางบ้านป่าแก่ประมาณ 3 กิโลเมตร มี ศาลทวดโต๊ะสามยอด ตั้งอยู่เชิงเขา ขนาดพื้นที่แหล่งประมาณ 30X40 ตารางเมตร ห่างจาก อ.ทุ่งหว้า ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร
หินปูนในแหล่งมีลักษณะมีการสลับชั้น ระหว่างชั้นที่เป็นหินปูนกับชั้นที่เป็นหินปูนเนื้อโคลน และมีลักษณะที่แสดงว่าถูกบีบอัดจนชั้นหินปูนขาดออกจากกันเป็นก้อนทรงมน ด้านตัดขวางกับชั้นหินสังเกตเห็นซากเปลือก หอยกาบคู่ (Bivalve) ที่ฝาหอยทั้งหมดคว่ำลง การคว่ำลงของเปลือกหอยกาบคู่ทำให้เข้าใจได้ว่าหินปูนนี้เกิดการสะสมตัวบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีอิทธิพลของคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ทำให้เปลือกหอยส่วนใหญ่พลิกคว่ำลงบนพื้น
เป็นอีกสถานที่ที่สามารถพบเห็น นอติลอยด์ (Nautiloid) หรือ ฟอสซิลปลาหมึกทะเลโบราณ ต้นตระกูลของปลาหมึกทะเลโบราณ มีลำตัวอ่อนนิ่ม แต่ได้พัฒนาส่วนหัวให้มีเปลือกหุ้มลำตัว โผล่แต่หนวดออกมา ภายในส่วนท้ายของลำตัวเป็นห้องอับเฉาโดยมีท่อสูบฉีดน้ำ ช่วยควบคุมการดันน้ำเข้าเหมือนเรือดำน้ำ
เมื่อ นอติลอยด์ ต้องการลอยตัวก็จะดูดน้ำออกจากห้องอับเฉา เพื่อลดความหนาแน่นภายในลำตัว ทำให้ลอยตัว และจะใช้วิธีอัดน้ำเข้าไปในช่องว่าง เพื่อเพิ่มความหนาแน่นภายในลำตัว ก็จะทำให้จมตัวลงเหมือน หอยงวงช้าง ซึ่งเป็นแขนงของนอติลอยด์ต้ ส่วนปลาหมึกปัจจุบันวิวัฒนาการมาโดยไม่มีเปลือกหุ้มลำตัว
สถานที่ตั้ง: ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล