อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark)

ทิวทัศน์อันงดงามของชายหาดที่ซ่อนอยู่บนเกาะเขาใหญ่ ที่เกิดจากการยุบหินปูน พื้นที่ทางภูมิศาสตร์นี้ได้รับการจัดการโดยความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และชุมชนท้องถิ่น (ภาพโดย UNESCO)

จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันวิถีชีวิตผู้คน

อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอ ของ จ.สตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และ อ.เมือง ครอบคลุมพื้นที่ 2,597.21 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกจาก UNESCO เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561

ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่  และชายหาดที่สวยงาม เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาระดับสากลและได้รับการบริหารจัดการโดยใช้กรอบแนวคิดการอนุรักษ์ธรณีวิทยา การให้ความรู้ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อุทยานธรณีสตูล อาศัยมรดกทางธรณี เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒธรรม และวิถีชิวิต เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่

ผืนดินแห่งนี้เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อประมาณ 500 ล้านปีก่อน อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตในทะเลยุคดึกดำบรรพ์ เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์

ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย

แนวทางในการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีโลก

1. อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ของ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) อุทยานธรณีโลกเป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ

ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก 161 แห่งใน 44 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีธรณีโลก 10 แห่งใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย 1 แห่ง มาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 3 แห่ง และ อินโดนีเซีย 5 แห่ง (Update July 2020, ที่มา UNESCO)

2. จังหวัดสตูล ได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมทรัพยากรธรณีในการจัดตั้งอุทยานธรณีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณี ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ จัดทำแผนบริหารจัดการ และดำเนินการตามแผนฯ โดยได้ประกาศจัดตั้ง อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557

3. ประโยชน์ของการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เป็นการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศ ประชากรในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ครม.เห็นชอบ เสนอ “อุทยานธรณีสตูล” เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลก

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิก อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

ข้อมูลจาก: http://satun-geopark.com