พริกไทยสุไหงอุเป เป็นสินค้าหลักของ ต.ทุ่งหว้า ด้วยความโดดเด่นของรสชาด และเรื่องราวความเป็นมาแห่งการก่อเกิดเมือง สังคม เศรษฐกิจ ของ เมืองสุไหงอุเป (ชื่อเมืองเดิม) ที่ถูกสืบสานโดยลูกหลานรุ่นปัจจุบัน ทำให้สินค้าพริกไทยที่นี่ มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภคทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความภูมิใจของชุมชนที่รุ่งเรือง
“พริกไทยแต่ดั้งเดิมมาจากประเทศอินเดีย แล้วก็กระจายไปยังประเทศพม่า เวียดนาม ตามการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวจีน ลงมาถึงคาบสมุทรมลายู มาสู่เมืองปีนัง
พริกไทยพันธุ์สุไหงอุเป นี้เป็นพันธุ์ที่ชาวจีนจากปีนังนำเข้ามาปลูกที่เมืองสุไหงอุเป พระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูล สมัยนั้น มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมากที่มีนโยบายชักชวนชาวจีนเข้ามาทุ่งหว้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้า เพราะตรงนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม” พรหมพจน์ สิริพรชัยเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพริกไทยพื้นเมืองสุไหงอุเป เล่าย้อนอดีตให้ฟัง
“เริ่มต้นคือ เตี่ย (พ่อ) ผมคือหนึ่งในกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมา ณ เวลานั้น สมัยนั้น พริกไทยเป็นที่ต้องการของโลก เตี่ยก็เอาพริกไทยมาทดลองปลูกที่นี่ ก็ปรากฏว่ากลิ่นหอมกว่าที่อื่น รสชาติเข้มข้นกว่าที่อื่น เผ็ดร้อนกว่าที่อื่น เมล็ดดำมัน เก็บไว้ได้นานหลายปี ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ขายดิบขายดี คนจีนอื่น ๆ ก็เลยทยอยย้ายมาที่นี่เพื่อจะปลูกพริกไทยขายกันเยอะขึ้น ๆ
กลุ่มชาวจีนหลัก ๆ ก็มี จีนฮกเกี้ยน กับ จีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยนเก่งด้านการค้า แต้จิ๋วเก่งด้านการเกษตร ก็ร่วมมือกันโดยมีเจ้าเมืองคอยสนับสนุนผลักดัน จึงเกิดเป็นเมืองการค้า เศรษฐกิจดี มีพ่อค้ามารอซื้อพริกไทยจำนวนมาก มีเรืออังฏฤษมาเทียบท่ารอรับสินค้าทุก ๆ 15 วัน เพื่อไปส่งที่อังกฤษ ปีนัง
ขนาด สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษยังทรงโปรดพริกไทยสุไหงอุเป เรืออังกฤษต้องมารอ ทั้ง ๆ ที่พริกไทยที่อื่นก็มีเยอะแยะ ก็เพราะคุณสมบัติที่ไม่มีที่ไหนเหมือนของดินน้ำที่นี่ ซึ่งเป็นทะเลโบราณ พื้นที่เป็นเขาหินปูนยุคออร์โดวิเชียน อายุ 485-443 ล้านปี จึงมีความโดดเด่น ทำให้พริกไทยสุไหงอุเปมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการมาก
ราคาสมัยก่อน ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 สูงถึง หาบละ 6,000 บาท 1 หาบก็ประมาณ 50-60 กิโลกรัม ทำให้เมืองสุไหงอุเป เป็นแหล่งรายได้หลักของสตูล เจริญรุ่งเรือง” พรหมพจน์ สิริพรชัยเจริญ กล่าว
ปัจจุบันได้มีการรวมตัวกันของเกษตรที่ปลูกพริกเป็น วิสาหกิจชุมชน พริกไทยพื้นเมืองสุไหงอุเป เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พริกไทยดั้งเดิม และพัฒนาต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ใหเชุมชนอีกด้วย
“คนที่กินพริกไทยสุไหงอุเป เขาไม่ได้กินความเผ็ด แต่เขากินเรื่องราว” พรหมพจน์ สิริพรชัยเจริญ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจ