ประวัติและข้อมูลชุมชน

ชุมชนทุ่งหว้า เดิมเรียกว่า “สุไหงอุเป” (Su-ngai Upe) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิม ในภาษามาเลเซีย คำว่า “สุไหง” มีความหมายว่า “คลอง” คำว่า  “อุเป” หมายถึง “เตาะลิบง” เป็นภาษาไทยพื้นเมือง คำว่า “เตาะ” หมายถึงภาชนะสำหรับตักน้ำจากบ่อหรือคลอง เช่นเดียวกับ “ติ้นหมา” ในภาษาไทยถิ่นใต้ เตาะถ้าทำจากกาบหมากก็เรียกว่า “เตาะหมาก” แต่ที่อำเภอสุไหงอุเป เตาะนิยมทำจากกาบ ต้นลิบง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับ ต้นหมาก แต่ลำต้นและกาบใบมีหนาม เมื่อนำกาบใบมาทำเป็นเตาะจะมีความแข็งแรงทนทานสามารถใช้งานได้นาน ซึ่งผิดกับเตาะหมากที่มีอายุการใช้งานไม่กี่เดือนก็พัง ต้นลิบงมีขึ้นอยู่ทั่วไป ประกอบกับชาวบ้านนิยมใช้เตาะลิบงกันแทบทุกครัวเรือน ชื่ออำเภอนี้จึงเรียกว่า อำเภอสุไหงอุเป หรือ คลองเตาะลิบง 

ปี พ.ศ. 2440 สุไหงอุเป เมืองท่าสำคัญในการค้าขายทางทะเลด้านชายฝั่งทะเลตะวันตก การค้าขายกับขาวต่างประเทศทำให้ชุมชนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก สินค้าที่ขึ้นชื่อที่สุดในเอเชียอาคเนย์ คือ พริกไทยสุไหงอุเป จึงทำให้ชุมชนบ้านทุ่งหว้ามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก จนได้รับการขนานนามจากชาวต่างชาติว่าเป็น “ปีนังน้อย” ความเจริญรุ่งเรืองจะเป็นรองก็แต่เมืองปีนัง

อาคารพาณิชย์ของ สุไหงอุเป ในอดีต
อาคารเรือนแถวใน ต.ทุ่งหว้า สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกืส อายุประมาณ 100 ปี

ต่อมาการค้ากับต่างประเทศเริ่มซบเซา เศรษฐกิจที่คึกคักก็กลับชะลอตัว จนต้องยุติลงในที่สุด ชาวต่างชาติและชาวไทยในพื้นที่บางส่วนจึงได้อพยพทิ้งถิ่นไป ความเจริญต่าง ๆ ก็พลันทรุดโทรม จนถูกลดสถานะเป็นแค่กิ่งอำเภอ

ส่วนคำว่า “ทุ่งหว้า” มีที่มาจากการขยายเมืองสู่แผ่นดินที่ดอน ออกห่างไปจากแนวชายฝั่งคลอง มีการตัดถนนที่ตั้งของตลาด ร้านค้า ผ่านกลางทุ่งที่มีต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ต้นหว้า” ขึ้นอยู่มากมาย จึงขนานนามตามลักษณะที่ตั้งว่า “ทุ่งหว้า” ตั้งแต่นั้นมา

ชุมชนทุ่งหว้า เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลากชาติ หลายภาษาเข้ามาอยู่ร่วมกัน มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง กลุ่มชนต่าง ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แม้จะหมดยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากการค้าทางทะเล แต่ชุมชนต่าง ๆ ที่ลงหลักปักฐานอยู่ในตำบลนี้ ยังคงมีภาวการณ์ทางสังคมที่ผสมกลมกลืนในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ยอมรับคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่แตกแยก อันเนื่องมาจากความแตกต่างใด ๆ

อาณาเขต

ตำบลทุ่งหว้า อยู่ในเขตการบริหารจัดการของ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า และ เทศบาลตำบลทุ่งหว้า

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ต.ป่าแก่บ่อหิน ต.นาทอน และเขตป่าสงวนแห่งชาติ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองทุ่งหว้า คลองท่าข้ามควาย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

ประชากร

จำนวนครัวเรือนและประชากร (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ ปี 2556) ประกอบด้วย

  • 10 หมู่บ้าน
  • 2,042 ครัวเรือน 
  • ประชากร 7,164  คน (ชาย 3,551 คน, หญิง 3,595 คน)

นอกจากนี้ตำบลทุ่งหว้า ยังประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิม คือ ชนชาติพันธุ์มานิ อาศัยในพื้นที่ภูเขาสูงอีกด้วย โดยมีจำนวนประมาณ 80-100 คน

ศาสนา

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมา ศาสนาพุทธ   

ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้าน

มีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ประกอบด้วย ที่ราบระหว่างเทือกเขาสูงในเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ที่ราบต่ำระหว่างหุบเขาติดป่าโกงกาง มีสายน้ำธรรมชาติไหลผ่านหลายสาย เหมาะแก่การเพาะปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ตลอดจนความสมบูรณ์ของป่าชายเลน ระบบนิเวศชายฝั่ง เหมาแก่การทำประมงพื้นบ้าน