วิสาหกิจชุมชน บ้านสวนองุ่นสุวรรณา
ทะเบียน: 5-91-06-01/1-0049
ที่อยู่: 39/2 หมู่ที่ 3 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล 91120
โทรศัพท์: 098-671-5698
Facebook: บ้านสวนองุ่นสุวรรณา
2 สามีภรรยาใน อ.ทุ่งหว้า สมคิด ล่าหมาด และภรรยา นันทา ล่าหมาด ที่มีอาชีพหลักคือ ทำสวนยาง กรีดยางพารา แต่ด้วยปัญหาราคายางตกต่ำ จึงริเริ่มทำอาชีพเสริม จึงใช้ที่ดินข้างบ้านทำสวนองุ่น โรงเรือนสวนองุ่นเป็นแบบโรงเรือนปิด กันแมลง และตั้งชื่อตามชื่อลูกสาวว่า บ้านสวนองุ่นสุวรรณา
“ผมเป็นเขยทุ่งหว้าครับ จริง ๆ เป็นคนปราจีนบุรี ก็ย้ายมาช่วยทำสวนยางที่นี่ 20 กว่าไร่ เมื่อสัก 2 ปีที่แล้วราคายางมันตกต่ำมาก เหลือประมาณกิโลละ 20 กว่าบาท เลยคิดว่าหาพืชอย่างอื่นมาเสริม ลองเปลี่ยนแนวจากการทำเกษตรเพื่อผลผลิต มาลองทำเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว เป็นทางเลือก เพราะสวนยางเราก็ยังทำอยู่ เก็บผลผลิตอยู่” จิณณะ อุดมมนัญสกุล ลูกเขย ผู้ทำหน้าที่ ผู้จัดการบ้านสวนองุ่นสุวรรณา กล่าวถึงจุดเริ่มต้น
ครอบครัวได้ตกลงปลงใจเลือกทำปลูก องุ่น จึงเริ่มศึกษา ดูงาน เก็บข้อมูลต่าง ๆ กว่า 2 ปี จึงเริ่มต้นเพาะองุ่นสายพันธุ์ไร้เม็ด เช่น องุ่นดำไร้เม็ด องุ่นแดงไร้เม็ด องุ่นเขียวไร้เม็ด องุ่นดำลูกใหญ่ องุ่นแดงลุกใหญ่ จนประสบผลความสำเร็จ ทำให้องุ่นออกช่อสวยงามเป็นอย่างมาก และการเอาใจใส่ ดูแล รดน้ำ พรวนดิน อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตออกช่อห้อยเป็นพวงสวยงาม
นันทา ล่าหมาด วัย 47 ปี ก็เล่าให้ฟังว่า “เหตุผลที่เลือกปลูกองุ่นเพราะชอบ แล้วก็ไม่อยากง้อราคายางพาราซึ่งตกต่ำมาก จึงศึกษาการปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนลงมือปลูกรวม 5 สายพันธุ์ ถือว่าได้ผลดีมาก ตอนนี้ให้ผลผลิตแล้ว”
“องุ่น ปลูกได้ทั่วประเทศ แต่ไม่มีใครกล้าทำ เพราะคนเข้าใจว่าที่นี่ (สตูล) ไม่ใช่ที่ของมัน ผมเอาแนวคิดที่ว่า เอาของดอยไปขายที่ลุ่ม มาใช้ ให้เป็นความแปลกใหม่ในพื้นที่ คนใต้บางคนทั้งชีวิต 40-50 ปี เกิดมายังไม่เคยเห็นต้นองุ่นจริง ๆ เลย เราเปิด 3-4 วัน รายได้ก็ตกวันละหมื่นกว่าบาท ดีกว่ากรีดยางเยอะเลย เราก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ร้านอาหาร กาแฟ ซุ้มนั่งเล่นต่าง ๆ” จิณณะ อุดมมนัญสกุล ทิ้งท้าย
บ้านสวนองุ่นสุวรรณา เปิดให้เข้าชมโดยเก็บค่าเข้าชมคนละ 20 บาท เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ก็มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศมุ่งมาชมสวนองุ่นเป็นจำนวนมาก มีจุดถ่ายรูปเก๋ ๆ ที่เน้นดีไซน์แนวธรรมชาติ โดยใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุจากธรรมชาติทั้งหมด โดยวัสดุเหล่านั้นจะรับซื้อจากชุมชนในพื้นที่เพื่อกระจายรายได้ให้ชาวบ้านอีกด้วย