กล้วยไม้พันธุ์ รองเท้านารีขาวสตูล พืชท้องถิ่นทางภาคใต้ พบมากที่สุดในแถบ จ.สตูล เป็นพืชปลูกง่าย มีดอกสวยงาม เป็นที่นิยมนำไปปลูก รวมถึงการขายส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้เกิดการลักลอบเก็บรองเท้านารีขาวสตูลออกจากป่า ในขณะที่ป่าไม้ก็ถูกทำลายลงทุกวัน ๆ รองเท้านารีขาวสตูลในแหล่งธรรมชาติจึงลดลงจนใกล้สูญพันธุ์
ปี 2518 ประเทศไทย ได้ลงนามใน “อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” หรือ อนุสัญญาไซเตส (CITES) และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 กำหนดให้กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีหมายเลข 1 (CITES Appendix I) ควบคุมไม่ให้มีการส่งออกกล้วยไม้ที่เก็บจากป่า ยกเว้นพืชอนุรักษ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียมเ หากมีการปลูกเลี้ยงหรือจำหน่ายต้องจดทะเบียนพืชอนุรักษ์ จดทะเบียนสถานที่ปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์พืชอนุรักษ์ กับ กรมวิชาการเกษตร
โครงการ “คืนกล้วยไม้สู่ป่า” ริเริ่มขึ้นโดย คุณปรีดา เกลี้ยงกลม ผู้ก่อตั้ง กลุ่มรองเท้านารีออร์คิดฟาร์ม อันเป็น ศูนย์เรียนรู้กล้วยไม้ไทย พันธุ์รองเท้านารีขาวสตูล เพื่อการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นหายากชนิดนี้มิให้สูญพันธุ์ไป
“ตั้งใจว่าจะนำกล้วยไม้ที่เราเพาะไปปลูกในป่า คืนเขากลับไปสู่บ้านที่แท้จริง โดยร่วมกับ หน่วยพิทักษ์ป่าคีรีวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ขอปลูกในพื้นที่ภายในที่ทำการหน่วย เพราะถ้าไปปลูกในป่าที่ที่ไม่มีการดูแล อาจจะถูกลักลอบเก็บไปขายอีกก็ได้ อยากให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด หวงแหน ทรัพยากร พันธุ์พืช สัตว์ที่มีอยู่ อย่าให้มันสูญหายไปจากประเทศของเรา” ปรีดา เกลี้ยงกลม กล่าว
โดยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ได้เริ่มต้นนำกล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล “คืนสู่ป่า” เป็นครั้งแรก หลังจากที่คุณปรีดาได้นำร่องทดลองนำพืชท้องถิ่นชนิดอื่นปลูกคืนสู่ป่าอันได้ผลสำเร็จอย่างดีมาแล้ว โดยมี นายดุสิต เศวตกรต หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าคีรีวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ในฐานะเจ้าของพื้นที่ลงมือปลูกด้วยตัวเอง
“ขอบคุณท่านหัวหน้าดุสิตที่สนับสนุนกิจกรรม เราเริ่มต้นที่ตรงนี้จะง่ายต่อการดูแล มั่นใจได้ด้วยว่าจะไม่มีคนมาลักมาเก็บไป หวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกที่เราจะเดินไปด้วยกัน เพื่ออนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล” ปรีดา เกลี้ยงกลม กล่าว